เข้าใจปัญหา "ปัสสาวะเล็ด" หลังคลอด พร้อมวิธีฟื้นฟูที่ใช้ได้จริง

ปัญหา ปัสสาวะเล็ดหลังคลอด เป็นสิ่งที่คุณแม่หลายคนต้องเผชิญ แต่กลับไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าที่ควร อาการนี้เกิดจากการที่กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรงหลังการตั้งครรภ์และคลอดลูก โดยเฉพาะการคลอดด้วยวิธีธรรมชาติ เมื่อกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรงลงส่งผลให้ควบคุมปัสสาวะได้ยาก โดยเฉพาะเวลาที่หัวเราะ ไอ จาม หรือออกแรงมากๆ แม้ว่าอาการนี้มักจะดีขึ้นเองภายในไม่กี่เดือนหลังคลอด แต่คุณแม่บางท่านก็มีอาการปัสสาวะเล็ดต่อเนื่องไม่หายขาด วันนี้หมอจะมาแนะนำวิธีฟื้นฟูและป้องกันที่สามารถช่วยให้คุณแม่กลับมามั่นใจและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสบายใจขึ้น

สาเหตุของปัสสาวะเล็ดหลังคลอด

  1. กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแรง – ระหว่างตั้งครรภ์และการคลอด กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานต้องรับน้ำหนักของทารกในครรภ์นานถึง 9 เดือน และอาจได้รับแรงดันอย่างมากในระหว่างการคลอดธรรมชาติ
  2. เส้นประสาทบริเวณอุ้งเชิงกรานถูกยืดหรือบาดเจ็บ – ในอุ้งเชิงกรานประกอบไปด้วยอวัยวะหลายส่วน จึงมีเส้นประสาทจำนวนมากในบริเวณนั้น เมื่อเส้นประสาทบริเวณอุ้งเชิงกรานได้รับบาดเจ็บ ส่งผลให้การควบคุมกล้ามเนื้อหูรูดปัสสาวะทำงานได้ไม่เต็มที่
  3. ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง – โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลงอย่างรวดเร็วหลังคลอด ทำให้เนื้อเยื่อบริเวณอุ้งเชิงกรานอ่อนแอลง
  4. ภาวะท้องผูกและแรงดันในช่องท้อง – การเบ่งอุจจาระหรือมีแรงดันสูงในช่องท้อง อาจทำให้อาการปัสสาวะเล็ดยิ่งแย่ลง

วิธีฟื้นฟูอาการปัสสาวะเล็ดหลังคลอด

  1. บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน : ด้วยการขมิบช่องคลอดและหูรูดปัสสาวะ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ทำได้โดยการขมิบกล้ามเนื้อเหมือนกลั้นปัสสาวะ ค้างไว้ 5-10 วินาที แล้วคลายออก ทำซ้ำ 10-15 ครั้งต่อเซต วันละ 3 เซต
  2. ฝึกควบคุมกระเพาะปัสสาวะ : ช่วยให้ร่างกายค่อยๆ ปรับตัวและควบคุมการกลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้น โดยกำหนดช่วงเวลาเข้าห้องน้ำเป็นระยะๆ เช่น ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง แล้วค่อยๆ เพิ่มเวลาห่างออกไปทีละ 15 นาที เมื่อเริ่มควบคุมได้ดีขึ้น หลีกเลี่ยงการเข้าห้องน้ำทันทีเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะ
  3. ออกกำลังกายแบบ Low Impact : เช่น โยคะ พิลาทิส ว่ายน้ำ เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว
  4. ปรับพฤติกรรมการดื่มน้ำและรับประทานอาหาร : ดื่มน้ำในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะอาจกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะบ่อย และรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเพื่อป้องกันอาการท้องผูก
  5. ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงอุ้งเชิงกราน : หากอาการรุนแรงแพทย์อาจแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ เช่น Pessary ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยพยุงช่องคลอดเพื่อลดแรงกดบนกระเพาะปัสสาวะ

วิธีป้องกันปัสสาวะเล็ดหลังคลอด

  • เริ่มบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานตั้งแต่ตั้งครรภ์ – การออกกำลังกายตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์สามารถช่วยเตรียมกล้ามเนื้อให้แข็งแรงก่อนคลอด
  • ควบคุมน้ำหนักระหว่างตั้งครรภ์ – น้ำหนักตัวที่มากเกินไปอาจเพิ่มแรงกดบนกระเพาะปัสสาวะ
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนักหลังคลอด – การใช้แรงมากเกินไปอาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานฟื้นตัวได้ช้าลง
  • หมั่นออกกำลังกายหลังคลอด – ควรเลือกกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของอุ้งเชิงกราน เช่น โยคะ หรือพิลาทิส
  • ปรึกษาแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น – หากอาการปัสสาวะเล็ดยังคงอยู่หลังคลอดเป็นเวลาหลายเดือน หรือมีอาการรุนแรง ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรักษาเพิ่มเติม

ปัสสาวะเล็ดหลังคลอดเป็นอาการที่สามารถฟื้นฟูและป้องกันได้ด้วยการออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และดูแลสุขภาพโดยรวม หากคุณแม่เริ่มดูแลตัวเองตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์และฟื้นฟูอย่างเหมาะสมหลังคลอด อาการนี้จะค่อยๆ ดีขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจอีกครั้งค่ะ แต่หากคุณแม่ยังขมิบไม่เป็น หรือไม่มีแรงขมิบ สามารถใช้ตัวช่วยการขมิบได้ด้วย “เก้าอี้ช่วยขมิบ” ที่ Dr.AomthongClinic ได้ทั้ง 2 สาขาค่ะ

Aomthong Clinic
สาขา ท่าอิฐ-นนทบุรี โทร. 098-271-3301
สาขา The walk เกษตรนวมินทร์ โทร. 082-172-7898
Email : DrAomthongClinic@Gmail.com
Facebook : DR. Aomthong Clinic
Line: @936wkzgn
Instagram : dr.aomthong
Tiktok : dr.aomthongclinic
Youtube : DR.Aomthong Clinic